วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การเลี้ยงหมูป่า

ลักษณะของหมูป่า

หมูป่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย ที่พบในประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Sus scrofa มี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หน้ายาว และพันธุ์หน้าสั้น หมูป่าเป็นสัตว์ที่กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ (Ommivorous) ซึ่งอาหารของหมูป่าได้แก่ ผักต่าง ๆ เผือก มัน เห็ด หน่อไม้ ข้าวโพด สับปะรด ถั่วลิสงและหญ้าอ่อนๆ ส่วนสัตว์จำพวกปลวก งู และหนู ก็กินได้เหมือนกัน หมูป่าจะมีนิสัยการกินอาหารแบบตะกละและแย่งกันกิน การหากินก็จะออกหากินในตอนเช้าตรู่เป็นส่วนใหญ่ หากถูกรบกวนมาก ๆ ก็จะออกหากินในตอนกลางคืนเช่นกัน หมูป่าชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ขนาดฝูงก็มีตั้งแต่ 5-6 ตัวจนถึงฝูงใหญ่ขนาด 50 ตัว แต่ละฝูงประกอบด้วยหลายวัย ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ในตัวผู้ขนาดใหญ่จะรวมฝูงเฉพาะช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ แต่ช่วงปกติจะแยกตัวออกจากฝูงและอาศัยอยู่เพียงโดดเดี่ยว ที่เรียกกันว่า หมูโทน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหมูโทนมีรางกายกำยำใหญ่โต มีเขี้ยวที่ยาวและแหลมคมสามารถที่จะรักษาตัวเองได้ หรืออาจเป็นเพราะว่ามันดุร้ายจนหมูป่าที่มีขนาดเล็กกว่าไม่อยากอยู่ด้วยจึงพากันแยกฝูงหนีไปเสีย


 หมูป่ามีประสาทรับกลิ่นที่ไวมาก แต่มีประสาทตาไม่ค่อยดี รวมทั้งประสาทหูไม่ดีด้วย (นอกจากบางครั้งที่มันเกิดสงสัยเมื่อได้กลิ่นประสาททั้งตาและหูจะว่องไวผิดปกติ) จมูกจึงเป็นเสมือนเครื่องรับประกันความปลอดภัยโดยธรรมชาติ หมูป่าเวลาออกหากินจะมีเสียงเอะอะและดังมาก ซึ่งเป็นเสียงไล่กัดกัน กัดกินอาหาร แย่งกันกินอาหาร เกลือกกลิ้งเล่นกันและเสียงนี้สามารถได้ยินในระยะไกลๆ อย่างไรก็ตามถ้าหากมันเกิดความสงสัยหรือระแวงเหตุร้ายขึ้นมา หมูป่าจะกลายเป็นสัตว์ที่เงียบที่สุดได้เหมือนกัน คือทุกตัวจะยืนนิ่งและเงียบกริบ ราวกับว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต ครั้นแน่ใจว่าจะมีภัยอันตรายเกิดขึ้นกับมันจะพากันออกวิ่งหนีพอเข้าป่าได้เรียบร้อยแล้วพวกมันจะยืนนิ่งเงียบกริบอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ให้แน่ใจอีกครั้งว่าปลอดภัยแล้วหรือยัง

หมูป่าเมื่อเป็นสัดและผสมพันธุ์เรียบร้อย ขนาดตั้งท้องอาจอยู่รวมกับฝูงปกติจนกระทั้งใกล้คลอดจึงจะแยกออกจากฝูง เพื่อเตรียมทำรังสำหรับคลอดลูก ส่วนมากจะทำรังด้วยพวกหญ้าและเศษไม้เศษพืช เท่าที่หาได้ มากองสุมกันจนมีความสูงประมาณ 1 เมตรกว่าๆ โดยกองบนเนินดิน แม่หมูจะคลานเข้าไปและขุดยกเป็นโพรงแล้วคลอดในโพรงนี้ เลี้ยงลูกประมาณ 4 เดือนจนลูกโต และแข็งแรง จึงเข้ารวมฝูงใหญ่ และหากินกันตามปกติในลักษณะเช่นเดิม

พันธุ์หมูป่าที่ใช้เลี้ยง

ในเมืองไทยมีหมูป่าอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หน้ายาวและพันธุ์หน้าสั้น ซึ่งสามารถแยกความแตกต่าง ได้ดังนี้

1. พันธุ์หน้ายาว ลักษณะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ หน้ายาวกะโหลกเล็กลำตัวยาวหุ่นเพียวสูง อายุ 2 ปี ขึ้นไปมีความสูงขนาด 80 - 90 เซนติเมตร ขาเล็กและยาวเป็นกลีบเท้าเล็กแต่แข็งแรงมากคล้าย ๆ เก้งจะออกในลักษณะหน้าสูงท้ายต่ำ หูเล็ก แนบชิดลำตัว มีขนสีขาวขึ้นด้านใต้แก้มทั้งสองข้าง และมีขนเป็นแผงขึ้นจากท้ายทอยไปถึงสันหลังขนจะยาวประมาณ 6 นิ้ว เวลาตกใจขนจะชูสูงขึ้นลักษณะขนโดยทั่วไปจะขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 รูๆ ละ 1 เส้น ตัวผู้จะมีเขี้ยว ตัวเมียไม่มีเขี้ยว และตัวผู้จะมีผาน หรือผื่นไขมัน ซึ่งหนามาก ตรงไหล่ขาหน้า ทั้ง 2 ข้าง และมีตุ่มนม 5 คู่ พันธุ์หน้ายาวจะหากินในป่าตื้น

2. พันธุ์หน้าสั้น ลักษณะใกล้เคียงกับพันธุ์หน้ายาว แต่หัวกะโหลกจะใหญ่กว่า ดูแล้วเหมือนพันธุ์หน้ายาว แต่พันธุ์หน้าสั้นมีลักษณะลำตัวจะกลม เตี้ย หูเล็ก ขาสั้น และหนังจะหนากว่าพันธุ์หน้ายาวนมไม่เกิน 10 เต้า จะหากินป่าลึก จะมีจ่าฝูงฝูงหนึ่งประมาณ 30 ตัว ตัวเมียใกล้คลอดจะแยกจากฝูงไปเลี้ยงลูกประมาณ 4 เดือน และจะเข้าฝูงใหม่

อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีผู้ผสมเป็นหมูป่า 2 สาย และ 3 สายกันมากขึ้น

ลักษณะที่ดีของหมูป่าที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ จะมีดังนี้ คือ

1.   รูปร่างสูงโปร่ง

2.   สันหลังตรงและยาว

3.   ส่วนไหล่หนา (ผานไหล่) หนาและกว้าง

4.   สะโพกกว้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น